ระบบสำรองข้อมูล ตัวช่วยสำคัญเมื่อเกิดปัญหา Data Center ล่ม

ระบบ Data Center ภายในองค์กร ถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะมีข้อมูลอันมีค่ามากมายจัดเก็บอยู่ เช่น ข้อมูลลูกค้า คู่แข่ง และกลยุทธ์ทางตลาด ที่ล้วนแล้วแต่ต้องนำมาใช้วิเคราะห์และประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ และคงไม่มีใครอยากให้ Data Center ล่มหรือเสียหายขณะที่กำลังทำงานอยู่ เพราะนอกจากจะทำให้เสียเวลากับการแก้ไขระบบแล้ว ยังต้องมากังวลหากข้อมูลสำคัญเกิดการสูญหาย แต่ถึงแม้ในหลาย ๆ บริษัทจะมีการวางระบบ Data Center ที่มีประสิทธิภาพ และเลือกใช้อุปกรณ์จากแบรนด์ชั้นนำ รวมถึงซอฟต์แวร์ราคาแพง อีกทั้งยังมีระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายที่ได้รับการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถป้องกันการเกิดระบบล่มได้ ซึ่งทางออกที่บริษัทต่าง ๆ เลือกใช้ นั่นก็คือการนำระบบสำรองข้อมูลมาเสริมกับการทำงานเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง หากเกิดกรณีระบบ Data Center ของบริษัทล่มนั่นเอง 

Data Center ล่ม! เรื่องใหญ่ขององค์กร

ปัญหา Data Center ได้รับความเสียหาย หรือขัดข้องจนทำงานต่อไม่ได้ มักจะเกิดขึ้นโดยที่คุณไม่ทันได้ตั้งตัว แม้ว่าจะมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ทั้งการทำ RAID ไว้ที่ตัว Server หรือการทำ HCI เพื่อกระจายความเสี่ยงก็ตาม แต่อาจยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถทำให้ระบบ Data Center ภายในล่มได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ภัยจากมนุษย์ ภัยจากไซเบอร์
  • การลบข้อมูลหรือติดตั้งไวรัสโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • ระบบซอฟต์แวร์ทำงานผิดพลาด
  • อุปกรณ์เสียหายระหว่างการทำงาน ทำให้เกิด Downtime

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ธุรกิจของคุณหยุดชะงัก และทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาจนยากที่จะแก้ไข นอกจากนี้การกู้คืนข้อมูล ก็อาจจะไม่สามารถกู้ให้กลับคืนมาได้ 100% หากไม่มีระบบสำรองข้อมูลที่ดีมาติดตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรก 

ระบบสำรองข้อมูล ตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้เมื่อระบบล่ม

การรับมือและป้องกันปัญหาเซิร์ฟเวอร์ล่ม คือสิ่งที่ทุกองค์กรจะต้องวางแผนอย่างครอบคลุม อย่างการนำระบบสำรองข้อมูลเข้ามาติดตั้ง นอกจากจะช่วยให้เกิดความมั่นใจต่อการทำงานแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน Disaster Recovery site (DR) ระบบนี้ก็ยังสามารถช่วยให้องค์กรของคุณสามารถกู้ข้อมูลกลับมาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย 

Disaster Recovery site (DR) คือการทำการสำรองข้อมูลที่ location อื่นโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะอยู่ในรัศมีอย่างน้อย 160 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าอาจจะเป็นการสำรองข้อมูลในพื้นที่เขตหรืออำเภออื่น จังหวัดอื่น หรือประเทศอื่น เป็นต้น

สิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาก่อนเลือก site ในการสำรองข้อมูล

  •  Location: ระยะทางห่างจาก Site หลักมากน้อยแค่ไหน ในการเลือก Site ในการสำรองข้อมูล ควรที่จะต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทาง ความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของพนักงานด้วย เพื่อให้สามารถทำการจัดการและดูแลระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
  • Time Frame: องค์กรต้องการจะใช้ Site ในการทำ DR เป็นระยะเวลานานแค่ไหน โดยที่จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็น และคาดการณ์ไปถึงในอนาคต เพื่อให้สามารถวางแผนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ค่าใช้จ่าย: เรื่องของงบประมาณถือเป็นสิ่งสำคัญในการนำมาพิจารณา เพราะในแต่ละบริษัท ย่อมมีงบประมาณสำหรับการทำ DR site ที่แตกต่างกันออกไป ยิ่งทรัพยากรที่ต้องรองรับมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้องมีการวางแผนให้ดีว่าจะมีการจัดเก็บและสำรองข้อมูลประเภทใดบ้าง
  • ทรัพยากรและเทคโนโลยี: การเลือกเทคโนโลยีเพื่อใช้ในระบบสำรองข้อมูลก็มีความจำเป็นที่ต้องนำมาพิจารณา เพราะมีส่วนช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุด หรือต้องหยุดชะงักหากเกิดเหตุกับ Site หลัก

ประเภทของ DR sites

1. แบ่งตาม Location

  • Internal site: เป็น Location ที่บริษัททำ DR site เอง โดยที่ไม่มีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการดำเนินงาน และการบำรุงรักษา ซึ่งการทำ DR site ในรูปแบบนี้ จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่สามารถควบคุมการเข้าถึง Site และใช้งานทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงสามารถปกป้องข้อมูลจากการโดนโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • External site: เป็นการทำ DR site โดยบริษัทภายนอก มีระบบการใช้งานและการจัดการที่ง่ายกว่า สะดวกกว่า มีความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงหากต้องการขยายหรือลดขนาด Site ก็สามารถทำได้ดีกว่าแบบ Internal site
  • Mobile site: เป็นการทำ DR site แบบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ แต่การทำระบบสำรองข้อมูลในรูปแบบนี้ ยังไม่ได้รับความนิยมในการทำงานเท่าไหร่นัก 

2. แบ่งตามการใช้งาน

  • Hot site: เป็นระบบสำรองข้อมูลที่มีทุกอย่างเหมือน Main site ตั้งแต่ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ มีการ Backup ข้อมูลตลอดเวลา ในกรณีที่เกิด Downtime ที่ระบบหลัก Hot site จะเข้ามาทำงานแทนที่ทันที เพื่อลดการเกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ เหมาะสำหรับบริษัทที่ต้องการใช้ข้อมูลในการดำเนินงานตลอดเวลา
  • Cold site: เป็นระบบสำรองข้อมูลที่มีการสำรองข้อมูลระบบหลักไว้บางส่วนเท่านั้น หากเกิด Downtime จำเป็นที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล และทำการตั้งค่าก่อนเปิดใช้งาน อาจใช้เวลานาน เหมาะสำหรับบริษัทที่ไม่ต้องพึ่งข้อมูลมากนัก และสามารถยอมรับความล่าช้าในการดำเนินงานได้หากเกิด Downtime
  • Warm site: เป็นระบบสำรองข้อมูลที่อยู่ตรงกลางระหว่าง Hot site และ Cold site โดยจะมีการ Backup ข้อมูลเป็นระยะตามช่วงเวลาที่กำหนด มีซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เหมือนกับ Main site เมื่อเกิดปัญหากับระบบหลัก ระบบสำรองจะถูกนำมาใช้งาน แต่จะมีข้อมูลบางส่วนขาดหายไป

รูปแบบของการทำ Disaster Recovery

โดยปกติแล้ว การทำ Disaster Recovery สามารถทำได้สองแบบด้วยกัน นั่นคือ on-premise และ on cloud ซึ่งการทำ DR ทั้งสองรูปแบบก็จะมีความแตกต่างกันไป 

ข้อดีของการทำ Disaster Recovery แบบ On-premise

  • องค์กรสามารถลงทุนเอง และดูแลรักษาระบบสำรองข้อมูลด้วยตัวเองทั้งหมด
  • สามารถออกแบบ Data Center ได้ตามระดับมาตรฐานที่ต้องการ
  • สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการทำ Disaster Recovery ได้อย่างอิสระ
  • สามารถเพิ่มเติมเทคโนโลยีในการรักษาความปลอดภัยแบบ Virtual และ Physical ได้เอง

ข้อดีของการทำ Disaster Recovery แบบ Cloud

  • สามารถเริ่มทำ Disaster Recovery ได้อย่างรวดเร็ว 
  • องค์กรสามารถเลือกผู้ให้บริการได้ตามความต้องการ ไม่ต้องลงทุนสร้าง Data Center เอง หรือจ้างพนักงานเข้ามาดูแลระบบ
  • สามารถทดสอบเทคโนโลยีในการทำ DR ของผู้ให้บริการแต่ละรายได้ทันที เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการใช้งาน
  • เพิ่มความยืดหยุ่นในด้านการลงทุน และสามารถต่อยอดไปยังระบบ Hybrid cloud ได้
  • สามารถเพิ่มเทคโนโลยีในการรักษาความปลอดภัยแบบ Virtual ได้ตามความต้องการ

7 Levels of Disaster Recovery

มาลองเช็คระดับความสามารถในการกู้คืนข้อมูล3 ขององค์กรกันดูสักนิด

Tier 0: No off-site data
สำรองข้อมูลไว้เพียงที่เดียว ถ้าระบบล่มจะไม่สามารถกู้คืนข้อมูลได้ทุกกรณี

Tier 1: Physical backup with a cold site
สำรองข้อมูลไว้แค่บางส่วน และจัดเก็บไปยังสถานที่ที่กำหนด ข้อดี คือมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ เพราะส่วนมากจะนิยมใช้เทปในการบันทึก แต่จะไม่สามารถกำหนดระยะเวลากู้คืนได้ เพราะต้องเริ่มสั่งซื้ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลใหม่ตั้งแต่ต้น

Tier 2: Physical backup with a hot site
สำรองข้อมูลไปยัง Site ซึ่งมีฮาร์ดแวร์สำหรับจัดเก็บ และกู้คืนข้อมูลติดตั้งไว้แล้ว ซึ่งจะเรียกคืนข้อมูลกลับมาได้เร็วกว่า Tier 1 มาก

Tier 3: Electronic vaulting
สำรองข้อมูลไปยัง Site เหมือนกับ Tier 2 แต่เพิ่มการสำรองข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังพื้นที่จัดบนระบบเครือข่าย ทำให้ทำ Back up ได้บ่อยและกู้คืนข้อมูลได้เร็วขึ้น

Tier 4: Point-in-time copies/active secondary site
เพิ่ม Site สำรองข้อมูลเป็น 2 แห่ง ข้อมูลจะถูกบันทึกไปยังระบบสำรองข้อมูลที่ Site หลัก จากนั้นจะถูกส่งต่อไปยัง Site สำรอง จึงทำให้การทำ Back up ปลอดภัยและเสถียรยิ่งขึ้น แต่หากระบบของ Site หลักเกิดล่มก่อนที่จะส่งข้อมูลไปยัง Site สำรอง ข้อมูลก็จะสูญหายทันที

Tier 5: Two-site commit
ใช้หลักการเดียวกันกับ Tier 4 แต่พิเศษกว่าตรงที่ เราสามารถส่งต่อ ปรับปรุงและอัปเดตข้อมูลระหว่าง Site หลัก และ Site สำรอง ได้ ผ่านการยืนยันบนระบบ แต่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูล จำเป็นต้องใช้ระบบเครือข่ายความเร็วสูงและเสถียร เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด

Tier 6: Minimal to zero data loss
รวมทุกความสามารถของทุก Tier ข้างต้นเข้าด้วยกัน ให้ความปลอดภัยในการกู้คืนข้อมูลสูง โดยระบบจะเชื่อมโยงพร้อม Back up ข้อมูลของ Site หลักและ Site สำรองแบบเรียลไทม์ โดยที่ User ไม่ต้องเข้าไปยืนยันบนระบบ

Tier 7: Recovery Automation
ให้ความปลอดภัยในการกู้คืนข้อมูลสูงสุด รองรับการกู้คืนข้อมูลด้วยระบบอัตโนมัติ รวมถึงแจ้งเตือนไปสถานะต่างๆ ไปยังผู้ดูแลแบบเรียลไทม์ เหมาะกับธุรกิจที่มีข้อมูลปริมาณมากๆ หรือต้องเก็บรักษาข้อมูลสำคัญขององค์กรและลูกค้า

จะเห็นได้ว่า การทำระบบสำรองข้อมูล หรือ Disaster Recovery นั้น จะเข้ามาช่วยให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาในระยะยาว รวมถึงข้อมูลสำคัญจะไม่สูญหาย นอกจากนี้แล้ว การทำ DR ที่ดี ควรที่จะต้องมีการติดตามเพื่อวัดผลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาในการอัปเดตข้อมูล การแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วหลังจากที่ระบบล่ม โดยที่จะต้องไม่สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ เป็นต้น

หากคุณกำลังมองหาผู้ให้บริการระบบสำรองข้อมูลที่ได้มาตรฐานและระบบกู้คืนข้อมูลสำหรับองค์กรเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉิน โคนิก้า มินอลต้าฯ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้บริการด้าน IT แบบครบวงจร สามารถให้คำปรึกษาและตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ IT เพื่อลดช่องโหว่ของการเกิดปัญหาให้น้อยที่สุด มาพร้อมกับบริการที่ครบวงจร เพื่อให้คุณสามารถโฟกัสกับงานสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข้อมูลอ้างอิง:

[1] https://www.investopedia.com/terms/d/disaster-recovery-site.asp

2] https://www.knowledgenile.com/blogs/disaster-recovery-sites-types/

[3] https://www.cloud4u.com/blog/seven-tiers-of-disaster-recovery/

 

มองหาโซลูชันด้าน IT อยู่รึเปล่า เล่าเคสให้เราฟังก่อนได้นะ
ปรึกษาฟรี! คลิกที่นี่